โรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ต้องใช้มือและนิ้วทำงานหนักหรือทำงานซ้ำๆ เป็นเวลานาน เช่น พิมพ์งาน ใช้สมาร์ทโฟน หรือขยับเมาส์คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
โรคนี้เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นที่ใช้งอนิ้วซึ่งทำให้เคลื่อนไหวนิ้วไม่สะดวก มีอาการปวด สะดุด หรือล็อกนิ้วไม่สามารถเหยียดตรงได้ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว หากปล่อยไว้นานอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนิ้วล็อกให้มากขึ้น ทั้งในแง่ของสาเหตุ อาการ กลุ่มเสี่ยง ตลอดจนแนวทางการรักษา เทคนิคการบริหารนิ้ว และการปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ มาเริ่มกันเลยค่ะ
สาเหตุของโรคนิ้วล็อก (Trigger Finger)
สาเหตุหลักของโรคนิ้วล็อก คือ ภาวะอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อที่ใช้งอนิ้วบริเวณโคนนิ้วฝ่ามือ ทำให้เอ็นหนาตัวขึ้น เคลื่อนไหวผ่านปลอกหุ้มได้ยากหรือติดขัด เวลาขยับหรืองอนิ้วจะรู้สึกสะดุด หรือล็อกค้างไม่สามารถเหยียดนิ้วกลับได้เอง
สาเหตุของการอักเสบเกิดจากการใช้นิ้วและข้อมือทำงานหนักเกินไป การบาดเจ็บ หรืออาจเกิดร่วมกับโรคบางอย่างเช่น เบาหวาน รูมาตอยด์ เก๊าท์ ทำให้เส้นเอ็นอักเสบได้ง่ายขึ้น
คนกลุ่มไหนเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อก
- คนทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือซ้ำๆ นานๆ เช่น แม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ เชฟ ช่างฝีมือ ทันตแพทย์ คนสวน
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตเสื่อม รูมาตอยด์ โรคเก๊าท์
- เพศหญิง และผู้สูงวัย
วิธีป้องกันโรคนิ้วล็อก
- หลีกเลี่ยงการหิ้วของหนักเกินไป ควรเปลี่ยนเป็นอุ้มหรือใช้รถเข็นแทน
- ใส่ถุงมือ หรือเลือกเครื่องมือที่มีด้ามจับนุ่มกำลังพอดีกับมือ
- พักมือเป็นระยะๆ เวลาทำงานต่อเนื่องนานๆ แล้วยืดเหยียดมือบ้าง
- งดขยับ กด ดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้อาการแย่ลง
- แช่มืออุ่นๆ แล้วขยับกำแบๆ เบาๆ ช่วยลดอาการข้อฝืดตอนเช้าได้
- เลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้มือล้า เช่น ซักผ้า บิดผ้าแรงๆ หรือการกำแน่น
อาการของโรคนิ้วล็อก
อาการของโรคนิ้วล็อกมักจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้
- ระยะที่ 1: มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว โดยเฉพาะเวลากดหรือเคลื่อนไหวนิ้ว แต่ยังไม่มีอาการสะดุด
- ระยะที่ 2: เริ่มมีอาการสะดุดเวลางอหรือเหยียดนิ้ว อาจได้ยินเสียงดังกริ๊ก
- ระยะที่ 3: นิ้วจะติดล็อกเวลางอ ไม่สามารถเหยียดออกได้เอง ต้องใช้มืออีกข้างช่วยแกะ และหากอาการมากขึ้นก็จะไม่สามารถงอนิ้วลงได้ด้วยตัวเอง
- ระยะที่ 4: มีอาการปวดและบวมมากจนไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้ อาการเจ็บปวดอาจรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถนอนหลับได้
การรักษาโรคนิ้วล็อก
การรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดนับเป็นแนวทางหลักที่ได้ผลดี โดยอาศัยเทคโนโลยีเครื่องมือต่างๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของนิ้วให้ดีขึ้น เครื่องมือเหล่านี้ได้แก่
- Ultrasound Therapy คลื่นอัลตราซาวด์ความถี่สูง จะส่งผ่านความร้อนเข้าไปกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดการอักเสบและคลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อนิ้วดีขึ้น

- Extracorporeal Shockwave Therapy (ESWT) เป็นคลื่นกระแทกที่ส่งผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อลึก กระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ลดอาการปวดและอักเสบบริเวณเส้นเอ็นและข้อต่อ

- Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) คลื่นแม่เหล็กความเข้มสูงจะกระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลาย เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ลดอาการปวด และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

- Low Level Laser Therapy (LLLT) เลเซอร์พลังงานต่ำจะกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ลดการอักเสบและปวดบวม ปรับสมดุลของเซลล์และเนื้อเยื่อให้แข็งแรงมากขึ้น
การรักษาด้วยเครื่องมือกายภาพบำบัดเหล่านี้มีข้อดีคือ ไม่มีการผ่าตัด ไม่ต้องพักฟื้นนาน ทำให้อาการดีขึ้นได้เร็ว มีความปลอดภัยและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงน้อยมาก เมื่อใช้ร่วมกับการบริหารนิ้วและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันการเป็นซ้ำได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของนักกายภาพบำบัดที่ผ่านการศึกษาและมีความชำนาญ จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกวิธีและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ท่าบริหารสำหรับแก้อาการนิ้วล็อก
- กล้ามเนื้อบริเวณแขน มือ นิ้วมือ โดยยกของระดับไหล่ ใช้มือหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น–ลง ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ 1–10 แล้วปล่อย ทำ 5–10 ครั้ง/เซต
- บริหารการกำ–แบมือ โดยฝึกกำ–แบ เพื่อการเคลื่อนไหวของข้อนิ้ว และกำลังกล้ามเนื้อภายในมือ โดยทำ 5–10 ครั้ง/เซต (กรณีนิ้วล็อกไปแล้ว งดทำท่าที่ 2)
- หากเริ่มมีอาการปวดตึง แนะนำให้แช่มือในน้ำอุ่นไว้ 15–20 นาทีทุกวัน (วันละ 2 รอบ เช้า–เย็น) หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้มาพบแพทย์และทำการรักษาทางกายภาพต่อไป
วิธีลดความเสี่ยงการเป็นนิ้วล็อก
- ไม่หิ้วของหนักเกิน และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ อาจใช้วิธีการอุ้มประคองหรือรถเข็นลากแทนการหิ้วของ เพื่อลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ
- ควรใส่ถุงมือ หรือ ห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้น และจัดทำขนาดที่จับเหมาะแก่การใช้งานขณะใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ
- งานที่ต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยหรือระบมควรพักมือเป็นระยะๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง
- ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
- ถ้ามีข้อฝืดตอนเช้า หรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือ กำ-แบๆ ในน้ำเบาๆ จะทำให้ข้อฝืดลดลง
- หลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ การบิดผ้าให้แห้งมากๆ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมือ เพื่อให้กำแน่นๆ
บทสรุป
โรคนิ้วล็อกสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยวิธีการทางกายภาพบำบัดถือเป็นตัวเลือกหลักที่มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย และเหมาะสมกับทุกระดับอาการของโรค การนำเทคโนโลยีเครื่องมือกายภาพบำบัดสมัยใหม่มาใช้ เช่น Ultrasound, Shockwave, PMS, LLLT จะยิ่งช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้นไปอีก
นอกจากการรักษาด้วยเครื่องมือแล้ว การบริหารรักษานิ้วและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของโรคก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ควรทำควบคู่กันไปเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงการไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติโดยไม่ปล่อยทิ้งไว้ จะช่วยหยุดการลุกลามของโรคได้อย่างทันท่วงที